รถหลุดจำนำ ซื้อขายกันโดยไม่มีสมุดคู่มือจดทะเบียนผิดกฎหมายหรือไม่ ???

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า การจำนำคืออะไร และสิ่งใดบ้างที่จำนำได้ จำนำ คือสัญญาที่บุคคลคนหนึ่งส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ซึ่งการจำนำนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพียงส่งมอบทรัพย์ที่เป็นสังหาริมทรัพย์เป็นประกันการชำระหนี้ก็เป็นสัญญาจำนำที่สมบูรณ์แล้ว สาระสำคัญของสัญญาจำนำคือต้องมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ ให้ผู้รับจำนำยึดถือไว้ และการจำนำสังหาริมทรัพย์เพื่อประกันหนี้ อาจจะประกันหนี้ของตนเองหรือของบุคคลอื่นก็ได้ แต่ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของนำเอาไปจำนำผู้ที่เป็นเจ้าของติดตามเอาคืนได้ มาถึงคำถามข้างต้น การซื้อขายรถหลุดจำนำ ? หากมีการจำนำโดยถูกต้องตามกฎหมายสัญญาจำนำก็มีผลผูกพันและหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้รับจำนำก็สามารถบังคับจำนำได้ โดยการนำทรัพย์ที่จำนำออกขายทอดตลาด การนำรถที่หลุดจำนำออกขายจึงทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ต้องเป็นการขายทอดตลาดและผู้ที่ซื้อรถได้จากการขายทอดตลาดนี้ ก็มีสิทธิที่จะเรียกเอาสมุดคู่มือจดทะเบียนจากผู้ขายหรือจากผู้ที่ยึดถือไว้ได้


มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำพิพากษาฎีกาดังนี้
ประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747
อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้


ประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา767 เมื่อจะบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด อนึ่ง ผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย


คำพิพากษาฎีกาที่ 2643/2531 ทรัพย์สินที่จำนำได้นั้นต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ แต่สิทธิการเช่าอาคารไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 101 จึงไม่อาจจำนำกันได้


คำพิพากษาฎีกาที่ 449/2519 จำเลยที่ 1 โอนขายรถยนต์ให้โจทก์แล้วทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองนำรถยนต์ไปมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะเชื่อโดยสุจริตว่า รถยนต์เป็นของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อโจทก์มิได้ประมาทหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ ย่อมมีสิทธิติดตามเอารถคืนได้ จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดในการส่งมอบรถคืนและใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp