
จากกรณีที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวว่า มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้จัดกิจกรรมรับน้องสุดโหด รุ่นพี่ได้พารุ่นน้องไปในป่า บังคับให้ดื่มแอลกอฮอล์ รุมทำร้ายจนรุ่นน้องหมดสติ และระหว่างทางไปโรงพยาบาลรุ่นน้องเสียชีวิต จึงเกิดข้อสงสัยว่ารุ่นพี่มีความผิดอย่างไรบ้าง การจัดกิจกรรมรับน้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาที่เข้ามาใหม่และรุ่นพี่ให้รู้จักกันผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ มีทั้งกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ และกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆในทุกวันนี้ ทั้งการใช้ความรุนแรง คุกคามทางเพศ ซึ่งทำให้รุ่นน้องได้รับบาดเจ็บและหนักที่สุดคือ ความตาย
จากการรับน้องที่ไม่สร้างสรรค์ ใช้ความรุนแรง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เป็นการกระทำโดยประมาท อันเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนักศึกษาซึ่งเป็นปัญญาชนของชาติ จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ บุคคลที่เป็นนักศึกษาอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ นักศึกษาที่จัดกิจกรรมรับน้อง ควรต้องจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมที่ต้องการสร้างความรักความสามัคคี และต้องดูแลความปลอดภัยให้รุ่นน้อง แต่นักศึกษาดังกล่าวก็ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ กลับจัดกิจกรรมเพื่อความสนุก สะใจ หรืออาจเพื่อให้รุ่นน้องเคารพและเกรงกลัว โดยการขู่บังคับรุ่นน้องและใช้ความรุนแรง จนเป็นเหตุให้รุ่นน้องที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องเสียชีวิต ดังนั้น รุ่นพี่นักศึกษาดังกล่าวจึงเข้าข่ายมีความผิดฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวก็มีข้อกฎหมายที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 เรื่องการทำร้ายผู้อื่นจนตาย การทำร้าย คือ ไม่ถึงขั้นมีเจตนาฆ่า แต่มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยการที่จะวินิจฉัยว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าหรือมีเพียงเจตนาทำร้าย ให้ใช้หลัก กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา กล่าวคือให้พิจารณาถึง อาวุธที่ใช้กระทำ อวัยวะที่ถูกกระทำ ลักษณะของบาดแผล และจากพฤติการณ์อื่นๆประกอบกัน ตัวอย่างเช่น
การที่ผู้กระทำใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายกับพวกหลายนัดนั้น ส่อเจตนาให้เห็นว่าจำเลยตั้งใจฆ่า แต่ถ้าเป็นการยิงในระยะใกล้ แต่ยิงไปถูกขาเหนือตาตุ่มกระดูกแตก แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาฆ่า มีแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น เพราะหากมีเจตนาฆ่าจริงๆ ก็คงเลือกกระทำต่ออวัยวะสำคัญเช่น ศีรษะ หน้าอก หรือกรณีใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่างถึง ๓ เมตร แต่ยิงไปถูกบริเวณเอวของผู้เสียหายถือว่ามีเจตนาฆ่า เพราะถ้าเป็นการยิงขู่ ก็ควรที่จะต้องมียิงไปยังทิศทางอื่น เช่น ยิงขึ้นฟ้า หรือในกรณีที่ผู้กระทำใช้กำลังทำร้ายอย่างแรง ก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ตายจะได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น การที่รุมทำร้ายผู้ตาย ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นได้ว่าการที่ร่วมกันหลายๆคนใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น จะทำให้ผู้อื่นต้องได้รับอันตราย และเมื่อการรุมทำร้ายดังกล่าวเป็นเหตุให้รุ่นน้องเสียชีวิต ก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานไม่มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290 ดังเห็นได้จากคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหนึ่ง ศาลได้มีคำสั่งจำคุกรุ่นพี่ที่รับน้องโหด โดยการให้กลิ้งตัวไปบนพื้นกรวดและใช้เท้าเตะที่หน้าอกผู้ตายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย โดยวินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ส่วนการที่พารุ่นน้องเข้าไปในป่าและบังคับให้ดื่มเหล้า เป็นกรณีที่บังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง หากมีมีลักษณะของการข่มขู่ให้เกิดความกลัวว่าหากไม่เข้าร่วมกิจกรรมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในด้านต่างๆ จนผู้ถูกกระทำกลัวและยอมกระทำตาม หรืออาจะจะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายจนรุ่นน้องยอมทำตามที่ถูกบังคับ เช่น ถูกเตะจนต้องยอมทำตาม เช่นนี้รุ่นพี่ก็อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และหากเป็นการกระทำโดยมีอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธโดยสภาพหรืออาวุธตามลักษณะการใช้งานก็ตาม หรือผู้กระทำร่วมกันทำตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ก็จะต้องระวางโทษหนักขึ้น และอาจเป็นความผิดลหุโทษในฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือเกิดความความตกใจอีกด้วย
นอกจากนี้ยังการกระทำดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการกักขัง กระทำการใดๆที่ทำให้รุ่นน้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังอีกด้วย และหากผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย หรือทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเพิ่มขึ้นด้วย แล้วแต่กรณี
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2542 ผู้ตายมีโรคเดิมอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการตกใจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติทำให้หัวใจวายอันเป็นสาเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้การที่จำเลยใช้ก้อนหินตีที่หน้าของผู้ตายทำให้เกิดอาการตกใจ หัวใจเต้นผิดปกติจนถึงแก่ความตาย ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย เป็นความผิดฐานมิได้เจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย แม้ผู้ตายเคยเข้ารับการรักษาโรคหัวใจมาก่อน ก็ไม่เป็นเหตุให้รับฟังว่าผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิใช่เกิดจากการทำร้ายของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21379/2556 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2503 จำเลยใช้กำลังทำร้ายโดยแรง เป็นเหตุให้ศีรษะผู้ตายฟาดหรือกระแทกกับพื้นถนนเข็งกะโหลกศีรษะแตกถึงตาย เป็นผลที่บังเกิดอันเนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยย่อมมีผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2563 การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะผู้เสียหายอยู่กับจำเลยในบ้าน จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้สึกกลัว จึงไม่ได้ออกไปไหน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8076/2557 ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณารับฟังได้ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันชกต่อยและใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงร่วมกันพูดข่มขืนใจให้ผู้เสียหายส่งมอบเสื้อชุดฝึกปฏิบัติงานโรงงานออกให้ มิฉะนั้นจะฟันผู้เสียหายอีก แสดงให้เห็นว่าในตอนแรกที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองกับพวกยังไม่มีเจตนาที่จะข่มขืนใจผู้เสียหายให้ส่งมอบเสื้อดังกล่าวให้ แต่หลังจากหยุดทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเกิดเจตนาข่มขืนใจผู้เสียหาย เจตนาข่มขืนใจดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน