
สัญญาขายฝาก คือ สัญญาซื้อขายชนิดหนึ่งซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันทีที่จดทะเบียนการขายฝาก เพียงแต่คู่สัญญามีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝากได้ภายในเวลาที่กำหนด หากเป็นการขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือการขายฝากที่อยู่อาศัยซึ่งผู้ขายฝากเป็นบุคคลธรรมดา จะต้องด้วยบทบังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ.2562 กล่าวคือ กำหนดเวลาไถ่นั้นจะต่ำกว่า 1 ปี หรือเกินกว่า 10 ปีไม่ได้ หากต่ำหรือเกินกว่านั้น ก็ให้ถือว่ามีกำหนด 1 ปี หรือ 10 ปี
ก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่า 3 เดือนแต่ไม่จำต้องมากกว่า 6 เดือน ผู้ซื้อฝาก มีหน้าที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแบบตอบรับไปยังผู้ขายฝาก เพื่อให้ผู้ขายฝากได้ทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ พร้อมทั้งให้แนบสำเนาสัญญาขายฝากไปด้วย ในกรณีที่ผู้ซื้อฝากไม่ดำเนินการดังกล่าวให้ครบถ้วน ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากได้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก
ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยการชำระสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝาก หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินที่รับจดทะเบียนการขายฝากทรัพย์สินนั้น โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ หากปรากฏว่า ผู้ขายฝากไม่อาจใช้สิทธิไถ่กับผู้ซื้อฝากได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ขายฝาก ก็ยังมีสิทธิวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินที่รับจดทะเบียนการขายฝากทรัพย์สิน ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดเวลาไถ่ หรือนับแต่วันที่เหตุที่ทำให้ไม่อาจใช้สิทธิไถ่ได้สิ้นสุดลง และให้ถือว่าผู้ขายฝากได้ไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากตามกำหนดเวลาไถ่แล้ว ดังนั้น ก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ ผู้ซื้อฝากอย่าละเลยต่อหน้าที่ในการแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ขายฝาก มิฉะนั้น ผู้ซื้อฝากก็จะต้องด้วยบทลงโทษตามกฎหมาย เพราะทำให้มีภาระหน้าที่ในการรับไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนานกว่าระยะเวลาที่กำหนด
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
มาตรา 492 ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ได้วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 333 วรรคสาม
พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ.2562
มาตรา 10 วรรคหนึ่ง สัญญาขายฝากจะกำหนดเวลาไถ่ต่ำกว่าหนึ่งปีหรือเกินสิบปีมิได้ ในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ต่ำกว่าหนึ่งปีหรือเกินสิบปี ให้ถือว่ากำหนดเวลาไถ่มีเวลาหนึ่งปี หรือสิบปี แล้วแต่กรณีแต่ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากก่อนครบกำหนดเวลาไถ่
มาตรา 17 ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่า 3 เดือนแต่ไม่มากกว่า 6 เดือน ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากทราบกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ พร้อมทั้งแนบสำเนาสัญญาขายฝากไปด้วย ในกรณีที่ผู้แจ้งมิใช่ผู้ซื้อฝากเดิม ต้องแจ้งไปด้วยว่าผู้ขายฝากจะต้องไถ่กับผู้ใดและสถานที่ที่จะต้องชำระสินไถ่
ในกรณีที่ผู้ซื้อฝากไม่ได้ดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ขายฝากภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งหรือมิได้ส่งสำเนาสัญญาขายฝากไปด้วย ให้ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้ภายในหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก โดยผู้ขายฝากมีหน้าที่ชำระสินไถ่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา