รู้หรือไม่ วันลาพักร้อน สะสมเป็นเงินได้ด้วยนะ

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ มีเวลาพักผ่อนที่เหมาะสม มีความปลอดภัยขณะทํางาน มีสวัสดิการและได้รับค่าจ้างถูกต้องตามที่กฎหมายกําหนด และเพื่อให้การจ้างงาน การประกอบกิจการ และ ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นไปโดยเหมาะสม ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ตามสมควร

ในการทำงานนั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานของลูกจ้างเอาไว้ เพื่อให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อน ไม่ทำงานหักโหมเกินไปจนเกินขีดความสามารถของมนุษย์ โดยสามารถแบ่งแยกวันทำงานและวันหยุดได้ดังนี้ วันเวลาทำงานปกติ เวลาพัก วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี

สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่าวันลาพักร้อน เป็นวันที่กฎหมายกำหนดขึ้นให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนจากการทำงาน โดยเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนประจำปี มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมา มาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันก็ได้

จากหลักกฎหมายดังกล่าว นายจ้างเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้กับลูกจ้าง ทำได้ 2 วิธี คือ นายจ้างเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยฝ่ายเดียว หรืออีกวิธีคือให้ลูกจ้างเป็นผู้นำเสนอก่อนแล้วนายจ้างเป็นผู้อนุมัติ

มีประเด็นข้อสงสัยว่า หากลูกจ้างไม่ได้แสดงความจำนงจะหยุดพักผ่อนประจำปี จะถือว่าลูกจ้างสละสิทธิหรือไม่ ประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหน้าที่ของนายจ้าง โดยไม่คำนึงว่า ลูกจ้างจะแสดงความจำนงที่จะขอหยุดหรือไม่ หากลูกจ้างไม่แสดงความจำนงนายจ้างก็ยังมีหน้าที่จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างจนครบจำนวน

มีข้อสงสัยต่อไปว่า หากนายจ้างไม่จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้าง และไม่ได้มีข้อตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้ ผลจะเป็นอย่างไร

ประเด็นดังกล่าว กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้วางหลักว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่ได้จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีน้อยกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ 6 วัน ต่อปี และไม่ได้มีข้อตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้ นายจ้างต้องมีหน้าที่จ่ายค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับลูกจ้าง โดยคิดอัตราเสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุด กล่าวคือ

นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้าง ในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดหรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

สรุปได้ว่า หากนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างแล้ว และไม่ได้มีข้อตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างไม่ได้ใช้ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่านายจ้างจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย นายจ้างจะต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน นอกจากนี้ นายจ้างยังอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงินตามมาตรา 10 วรรคสอง ไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17/1 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ ตามมาตรา 75 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือ ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 120/1 มาตรา 121 และมาตรา 122 ให้นายจ้าง เสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

วรรคสอง ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้าง ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

มาตรา 30 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้
นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้

สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้

มาตรา 64 ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงาน น้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงาน ในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 62 และ มาตรา 63 เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในวันหยุด

าตรา 144 นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) … มาตรา 64 …

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2547 โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 30 วัน โดยถือตามปีปฏิทิน พนักงานสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้จัดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีที่โจทก์ทำงานกับจำเลย แสดงว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ที่กำหนดให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีในแต่ละปีที่ทำงานหรือต้องตกลงกับโจทก์เพื่อกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ตามมาตรา 64
สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)

คำพิพากษาฎีกาที่ 8861/2546 กล่าวไว้ในทำนองเดียวกัน ดังนี้ “ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยผู้เป็นนายจ้างมีระบุไว้ในหมวด 2 วันหยุดและหลักเกณฑ์การลาหยุด ข้อ 3 วันหยุดพักผ่อนประจำปีว่า “พนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างตามปกติ และบริษัทเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้แก่พนักงานล่วงหน้า” ข้อบังคับดังกล่าวจึงมีความหมายว่า พนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน และได้รับค่าจ้างตามปกติโดยบริษัทเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้ล่วงหน้า จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ แม้โจทก์จะมิได้แสดงความจำนงว่าขอลาหยุด ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยอ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องกำหนดวันหยุดดังกล่าวให้โจทก์ ทั้งไม่อาจปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างตามสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp