
กรณีปรากฏเป็นกระแส สาวหล่ออ้างว่าถูกคู่สามีภรรยาเจ้าของบริษัทใหญ่ซึ่งเป็นนายจ้าง บังคับให้ทำบันทึกข้อตกลงให้สาวหล่อยอมร่วมหลับนอนอยู่กินกันแบบสามีภรรยา 3 คน แลกกับการชดใช้หนี้ หากไม่ทำตามจะถูกฟ้องร้องเรียกเงิน 10 ล้านบาท กรณีจึงเกิดข้อสงสัยในประเด็นข้อกฎหมายว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้หรือไม่
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีดังต่อไปนี้
นิติกรรม หมายถึง การใด ๆ ที่ได้ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
การพิจารณาว่านิติกรรมมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับตามกฎหมายได้ ก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ต่อคู่กรณีที่ทำนิติกรรมหรือไม่นั้น นอกจะจะต้องมีองค์ประกอบครบตามข้างต้นแล้ว นิติกรรมนั้นก็จะต้องไม่มีข้อบกพร่องตามที่กฎหมายกำหนด แบ่งออกเป็น นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆียะและนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะ
นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆียะ หมายถึง นิติกรรมที่ทำขึ้นแล้วมีผลสมบูรณ์ บังคับได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะถูกบอกล้างซึ่งจะมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก หรืออาจให้สัตยาบันเพื่อรับรองนิติกรรมนั้นให้สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรกได้เช่นกัน
ส่วนนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะ คือ นิติกรรมที่ทำลงไปแล้วเป็นการเสียเปล่า ไม่อามีผลใช้บังคับได้ ไม่มีผลทางกฎหมาย จึงไม่สามารถให้สัตยาบันแก่กันได้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด
นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะ สามารถแบ่งออกได้เป็น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย นิติกรรมที่ไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาซ่อนเร้น นิติกรรมอำพราง นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง และนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม
ไม่เพียงแต่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่จะตกเป็นโมฆะเท่านั้น แต่เพียงแค่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ตกเป็นโมฆะได้เช่นกัน แม้ว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะไม่มีกฎหมายให้คำนิยามศัพท์ไว้ แต่ก็อาจแปลความได้ว่าหมายถึง การกระทำใดๆที่มีผลกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของรัฐ เศรษฐกิจของประเทศ ความสงบสุขของประชาชน ส่วนคำว่า ศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็คือ ธรรมเนียมประเพณีของสังคม
เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศเมืองพุทธ ซึ่งยึดมั่นในหลักของศีลธรรม การไม่นอกใจสามีหรือภรรยาของตนเอง หรือที่เรียกว่า ผัวเดียวเมียเดียว ทั้งยังได้บัญญัติเป็นกฎหมายว่าห้ามสมรสซ้อน มิฉะนั้น การสมรสซ้อนจะตกเป็นโมฆะ กรณีจึงเห็นได้ว่าเป็นศีลธรรมอันดีของประชาชนและกฎหมายก็ได้บัญญัติห้ามไว้
ดังนั้น การทำบันทึกข้อตกลงอยู่กิน 3 ผัวเมีย เข้าข่ายเป็นการทำนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยเรียบแล้วและศีลธรรมอันดี บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงน่าจะตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับๆได้ตามกฎหมาย ไม่เกิดสิทธิ หน้าที่ระหว่างคู่กรณี เช่นนี้ไม่ว่าคู่กรณีจะทำบันทึกข้อตกลงด้วยความเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม แม้ภายหลังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง คู่กรณีก็ไม่อาจนำข้อตกลงใดๆมาอ้างสิทธิต่อกันได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 8921/2559
ศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 149 นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8921/2559 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ บันทึกข้อตกลงในส่วนที่จะถอนฟ้องจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงด้วยการให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น จำเลยก็จะใช้สิทธิขอให้บังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9006/2557 ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ท. นั้น ท. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วและยังคงเป็นคู่สมรสกับโจทก์ตลอดมาจนกระทั่ง ท. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามมาตรา 1497 แม้ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. สิ้นสุดลงไปก่อนโจทก์ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. ยังเป็นโมฆะอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. เป็นโมฆะได้