
สินส่วนตัว หมายถึงทรัพย์สินดังต่อไปนี้
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีกรรมสิทธิ์อยู่ก่อนการสมรส ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์
- ทรัพย์สินที่เป็นของใช้ส่วนตัว เช่นเครื่องแต่งกาย สร้อยคอ แหวน เป็นต้น และสมควรแก่ฐานะ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพของคู่สมรสฝ่ายนั้น
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา ในระหว่างสมรสหากมีการได้รับมรดกมาของฝ่ายใดก็เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
4.ที่เป็นของหมั้น ทรัพย์ที่ชายมอบให้หญิงเป็นของหมั้น ก็จะเป็นสินส่วนตัวของหญิง
สินสมรส หมายถึงทรัพย์สินดังต่อไปนี้
- ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
- ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
- ดอกผลของสินส่วนตัว
ข้อแตกต่างของสินส่วนตัวกับสินสมรสที่สำคัญ กล่าวคือ สินส่วนตัวต้องเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ส่วนสินสมรสต้องเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น ได้ที่ดินมือเปล่ามาก่อนสมรส ต่อมามีการออกโฉนดที่ดินหรือออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ภายหลังจดทะเบียนสมรสก็ยังเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นอยู่นั่นเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 2851/2561 เหตุที่ผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเพียงผู้เดียว เนื่องจากผู้ตายได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากบิดามารดา ผู้ตายครอบครองทำประโยชน์มากว่า 40 ปี ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ผู้ตายอยู่กินและจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องสอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรส เป็นสินส่วนตัวของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) แม้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ตายหลังจากผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องสอดแล้วก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกลับกลายเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายได้มาในระหว่างสมรสอันจะเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จําเลยได้
สามี ภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ ยังเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างนั้น ยังคนเป็นสินสมรส
คำพิพากษาฎีกาที่ 3392/2548 การที่จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ แต่มิได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับโจทก์ก็ยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ดังนั้น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชดเชย เงินค่าตอนแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8146/2560 จำเลยประกอบอาชีพหมอนวดและมีรายได้ เงินที่ได้มาก็เป็นสินสมรส เมื่อนำเงินที่ได้มาไปซื้อที่ดิน ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรส