
หากลูกหนี้ตายก่อนหนี้ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้จะต้องเรียกร้องภายในกำหนดอายุความใด ทาง LAWRAI มีคำตอบมาให้เช่นเคยครับ
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ มีกำหนดใช้เงินคืนในระยะเวลา 5 ปี ต่อมาอีกประมาณ 1 ปีเศษ ปรากฏว่าผู้กู้หรือลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนภายใน 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รู้ หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้หรือเจ้ามรดกนั่นเอง แม้ว่าสิทธิเรียกร้องยังไม่ถึงกำหนดเวลา 5 ปี ตามสัญญาก็ตาม (หลักกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม)
มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกคดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรมภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
ฎีกาที่ ฎีกาที่ 8811/2556 สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม