
การที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ระหว่างนั้นก็ทำมาหาได้ร่วมกัน จึงได้มาซึ่งทรัพย์สินต่างๆ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ใส่แต่ชื่อสามีหรือภรรยาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เพียงฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จะสามารถฟ้อง เพื่อให้ได้มา ซึ่งทรัพย์สินได้หรือไม่?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกันตามที่กฎหมายกำหนด ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสจะเรียกว่า สินสมรส ต่างจากกรณีที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสจึงไม่เป็นคู่สมรสต่อกัน บุตรที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นบุตรของหญิงฝ่ายความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาก็ไม่เกิดขึ้น กล่าวคือ ไม่เกิดระบบสินส่วนตัวและสินสมรส
แต่อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันจะเรียกว่า กรรมสิทธิ์รวม ผลคือถ้าเจ้าของรวมทุกคนไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนว่าใครจะมีกรรมสิทธิ์คนละกี่ส่วน กฎหมายท่านก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีสัดส่วนคนละเท่าๆ กัน จึงมีสิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
ดังนั้น แม้อยู่กินกันฉันสามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หากแต่ทำมาหาได้ร่วมกัน ทรัพย์สินนั้นก็จะเป็นกกรมสิทธิ์รวม
และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ เพียงใดถึงเรียกว่าทำมาหาได้ร่วมกัน หมายความเฉพาะแต่การที่ร่วมกันทำงาน หรือประกอบธุรกิจต่างๆ แล้วได้เงินหรือทรัพย์สินมา หรือจะหมายความรวมถึง ฝ่ายหนึ่งทำงานประกอบกิจการค้าส่วนอีกฝ่ายอยู่บ้านเลี้ยงบุตร ดูแลบ้าน ดูแลครอบครัวสร้างครอบครัวที่อบอุ่น แต่มีทรัพย์สินหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มขึ้น จะถือว่าการที่ฝ่ายที่ทำหน้าที่ดูแลครอบครัว เป็นการทำมาหาได้ร่วมกับอีกฝ่ายที่ทำงานประกอบกิจการหรือไม่
ประเด็นดังกล่าว เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/ 2512 ได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า การที่หญิงดูแลครอบครัวให้ชายก็ถือว่าเป็นการร่วมกันกับชายทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติร่วมกันแล้ว ชายหญิงจึงมีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าวเท่า ๆ กัน แม้จะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดก็ไม่สำคัญก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน
ดังนั้น การทำมาหาได้ร่วมกัน ที่จะทำให้เงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นเป็นกรรมสิทธิ์รวมได้นั้น จึงหมายความรวมถึง การที่ฝ่ายหนึ่งออกไปทำงานประกอบกิจการ แต่อีกฝ่ายอยู่บ้านดูแลครอบครัวด้วย เพราะถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกันแล้ว
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
มาตรา 1356 ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1357 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2551
แม้ข้อที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้ตายออกเงินซื้อรถยนต์พิพาทจะรับฟังไม่ได้ แต่ก็ได้ความว่าผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเมื่อปี 2535 และผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันผู้ร้องทำงานที่บริษัท จ. ส่วนผู้ตายมีอาชีพทำเครื่องไฟ กรณีจึงถือว่าผู้ร้องและผู้ตายร่วมกันทำมาหากินและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่หามาได้ในระหว่างอยู่กินด้วยกัน เมื่อผู้ตายได้รถยนต์พิพาทมาในระหว่างอยู่กินกับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทด้วยในฐานะเจ้าของร่วม ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/ 2512
การที่ชายหญิงแต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็หากระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีพึงได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่ ในระหว่างที่ผู้ร้องกับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ตามพฤติการณ์ที่ผู้ร้องกับจำเลยปฏิบัติต่อกัน เช่นผู้ร้องไปทำมาค้าขายโดยตนเอง ส่วนจำเลยเลี้ยงบุตรเป็นแม่บ้าน และผู้ร้องออกเงินซื้อที่ดินปลูกตึกและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดิน แล้วผู้ร้องจำเลยกับบุตรก็เข้าอยู่ด้วยกันตลอดมา ก็เป็นการแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของผู้ร้องและจำเลยร่วมกัน ทั้งมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของในทรัพย์พิพาทโดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าบรรดาทรัพย์ที่ผู้ร้องหรือจำเลยหามาได้ระหว่างนั้นแม้จะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดก็ไม่สำคัญก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกันและเมื่อผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันทรัพย์ทั้งหมดโดยเฉพาะทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ประเภทสินเดิมของผู้ร้องและจำเลยเท่าๆกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2540
ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น ในกรณีเจ้าของขายรถยนต์แล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสองบัญญัติถึงตัวทรัพย์สินว่าจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนการมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ย่อมเป็นการคุ้มครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าขอรวมทุกคนก่อน เป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียน และผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้องและถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ฯก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ นอกจากจะไม่ขัดต่อบทกฎหมายแล้วยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือ จดทะเบียนรถยนต์อีกด้วย ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันพิพาทขอให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นั้น จึงมีเหตุสมควรอนุญาตตามที่ขอได้