“ อ้างป้องกัน อ้างจำเป็น อ้างบันดาลโทสะ ” ผลเป็นอย่างไร ???

“ อ้างป้องกัน อ้างจำเป็น อ้างบันดาลโทสะ ”  ผลเป็นอย่างไร ???

อ้างป้องกัน ผู้กระทำไม่มีความผิดเลย
อ้างจำเป็น ผู้กระทำยังมีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ
อ้างบันดาลโทสะ ผู้กระทำยังมีความผิด แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

กรณีใดบ้างที่จะอ้างป้องกัน อ้างจำเป็น อ้างบันดาลโทสะ ได้
1.หลักเกณฑ์ที่จะอ้างป้องกันได้
  1.1 มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
  1.2 ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง
  1.3 กระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น
  1.4 กระทำพอสมควรแก่เหตุ
2.หลักเกณฑ์ที่จะอ้างจำเป็นได้
  2.1 อยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้
  2.2 เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
3.หลักเกณฑ์ที่จะอ้างบันดาลโทสะได้
  3.1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
  3.2 กระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 68
ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 67 ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
(๑) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(๒) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่อง ป้องกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17391/2557
การที่จำเลยไปหยิบอาวุธปืนจากรถยนต์มาเพื่อป้องกันบุตรของตน และเหตุที่กระสุนปืนลั่นเกิดจากการแย่งอาวุธปืนระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วม อันสืบเนื่องมาจากจำเลยใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันบุตรของตนดังกล่าว มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุ
คำพิพากษาฎีกาที่ 7516/2555 แม้จำเลยมีร่างกายพิการที่ขาขวาด้วน จำเลยก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเข้าไปเที่ยวเพื่อหาความสุขสำราญในร้านอาหารที่เกิดเหตุได้เช่นคนที่มีร่างกายปกติธรรมดาทั่วไป และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะนำเอาเหตุความพิการทางร่างกายของจำเลยมาพูดจาวิพากษ์วิจารณ์เยาะเย้ยถากถางหรือดูหมื่นเหยียดหยามเพื่อให้จำเลยเจ็บช้ำน้ำใจได้ การที่โจทก์ร่วมพูดกับ ม. ว่า “ดูนั่นซิด้วนแล้วยังมาเที่ยวอีก” และ ม. ยังพูดเป็นเชิงสนับสนุนเห็นด้วยว่า “ถึงพิการแต่ใจรัก” เป็นการเย้ยหยันสบประมาทตัวจำเลย ทำให้จำเลยต้องรู้สึกอับอายและแค้นเคืองเป็นอย่างมาก การที่จำเลยชักอาวุธปืนออกมาแล้วยิงขึ้นฟ้า 2 นัด ก็เพื่อเตือนให้หยุดยั้งการกระทำโดยมิชอบของโจทก์ร่วมและ ม. แต่แทนที่โจทก์ร่วมจะหยุดการกระทำดังกล่าวโจทก์ร่วมกับวิ่งเข้าไปหาจำเลยในลักษณะเข้าทำร้ายจำเลย แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีอาวุธติดตัว แต่ด้วยการที่จำเลยขาพิการย่อมอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหากจะป้องกันตัวโดยการต่อสู้กับโจทก์ร่วมด้วยมือเปล่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใส่โจทก์ร่วมจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตน ให้พ้นอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่การที่จำเลยยิงปืนใส่บริเวณลำตัวตนถูกแขนของโจทก์ร่วมอาจพลาดไปโดนอวัยวะสำคัญทำให้ถึงตายได้ จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า ซึ่งเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 68 และ 69

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่อง จำเป็น
การกระทำผิดด้วยความจำเป็นต้องเป็นเรื่องกระทำโดยเจตนา การกระทำโดยประมาทอ้างจำเป็นไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7227/2553 ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2514 จำเลยถูกคนร้ายที่มีสมัครพรรคพวกหลายคนแต่ละคนมีอาวุธปืนครบมือ ใช้ปืนจี้ขู่บังคับให้เอาเรือรับส่งข้ามฟากเพื่อช่วยคนร้ายให้พ้นจากการจับกุม ดังนี้ เป็นการที่จำเลยกระทำไปเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงขัดขืนได้ จึงเป็นการกระทำความผิดด้วย ความจำเป็น จำเลยไม่ต้องรับโทษ
เมื่อปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ไม่ต้องรับโทษแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณแก่จำเลยได้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่อง บันดาลโทสะ
คำพิพากษาฎีกาที่ 7428/2557 เหตุที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย สืบเนื่องจากผู้ตายด่าจำเลยว่า อีลูกกระหรี่ ซึ่งมีความหมายเป็นที่เข้าใจของคนปกติทั่วไปว่าเป็นการกล่าวหามารดาจำเลยว่าเป็นคนสำส่อนทางเพศ ทำให้คนธรรมดาและวิญญูชนทั่วไปที่อยู่ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ปกติ รวมทั้งจำเลยรู้สึกโกรธแค้น จึงเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แม้เมื่อผู้ตายด่าจำเลยด้วยถ้อยคำดังกล่าวแล้ว จำเลยจะเดินไปที่รถและพูดกับ อ. ในทำนองว่าขับรถให้หน่อยแล้วจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายไปในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดในขณะที่โทสะของจำเลยยังรุนแรงอยู่ ย่อมเป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ.มาตรา 72

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp