
ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองเครื่องหมาย 4 ประเภท คือ เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม เพื่อจำแนกให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าของผู้อื่น และเพื่อเป็นการให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตรงตามคุณภาพสินค้าที่ได้มีการโฆษณา เมื่อเครื่องหมายการค้าได้รับการจดทะเบียนแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้าก็จะมีสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวดังต่อไปนี้
สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เช่นนี้หากปรากฏว่ามีบุคคลอื่นนำเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วไปใช้กับสินค้าที่ไม่ใช่ของเจ้าของเครื่องหมายการค้า การกระทำดังกล่าวก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เพราะเจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้า บุคคลอื่นไม่มีสิทธิ
สิทธิในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จะดทะเบียนแล้ว สามารถทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ได้ โดยสัญญาอนุญาตนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน หากเป็นกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าบางประเภท แต่ปรากฏว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้ากลับนำเครื่องหมายการค้าไปใช้กับสินค้าประเภทอื่นที่ไม่ได้จดทะเบียนเอาไว้ กรณีดังกล่าวหากจะอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ก็ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนแต่อย่างใด
สิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาล เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น ที่จะมีสิทธิฟ้องร้องคดีต่อศาลเพื่อห้ามไม่ให้ผู้อื่นทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของตน ดังนั้นแล้วหากเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้นำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนจึงไม่มีสิทธิฟ้องว่าถูกกระทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าได้เลย ตามที่ มาตรา 46 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้บัญญัติเอาไว้ แต่อย่างไรก็ดีเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ยังได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการลวงขาย กล่าวคือ มีสิทธิฟ้องคดีบุคคลอื่นที่เอาสินค้าไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
มาตรา 44 ภายใต้บังคับมาตรา 27 และมาตรา 28 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้
มาตรา 46 บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้ จดทะเบียน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่น ซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2558 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเสื้อ กางเกง เสื้อกีฬา กางเกง กีฬา รองเท้ากีฬา และจดทะเบียนภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้สำหรับสินค้าดังกล่าวได้ และไม่อาจหวงกันผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การที่โจทก์อนุญาตให้บริษัท ส. นำภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกง แล้วบริษัท ส. โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 การที่จำเลยทั้งแปดได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อและกางเกงจึงเป็นการใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ในการใช้เครื่องหมายการค้านี้อย่างเครื่องหมายการค้าโดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งแปดหาใช่การกระทำต่อภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดของโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2544 จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคหนึ่งเพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ชอบ