เงินประกันชีวิตเป็นมรดกหรือไม่???

จากที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่าผู้เสียชีวิตรายหนึ่งได้มีกรมธรรม์ประกันชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยได้ระบุให้ลูกบุญธรรมเป็นผู้รับผลประโยชน์ และจากเรื่องนี้ ทำให้แม่ของผู้เสียชีวิตจะยื่นคัดค้าน เพื่อให้เงินตามกรมธรรม์ดังกล่าวตกเป็นของทายาทหรือบุคคลในครอบครัว ประเด็นดังกล่าวทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า เงินประกันกันชีวิตเป็นมรดกหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ กองมรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิด รวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆของผู้ตาย อันไม่ใช่การเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ และมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย สำหรับเงินประกันชีวิตนั้น เป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายไม่ได้มีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย แต่เงินประกันชีวิตจะเกิดได้แต่โดยอาศัยเหตุจากความตายของผู้เอาประกัน เช่นนั้นแล้วเมื่อเงินประกันชชีวิตไม่ใช่เงินที่เจ้ามรดกมีอยู่แล้วก่อนตาย เงินประกันชีวิตจึงไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาทแต่อย่างใด


ดังนั้น เงินประกันชีวิต ไม่ใช่มรดก
แต่ปัญหามีเพิ่มต่อไปว่า ถ้าผู้เอาประกันภัย ระบุชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต แล้วปรากฏว่าผู้รับประโยชน์ตายก่อนผู้เอาประกันชีวิต จะทำยังไง ใครจะมีสิทธิในเงินประกันชีวิต?? ก่อนอื่นเลย ต้องเข้าใจก่อนว่า สัญญาประกันชีวิตที่ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกจะเกิดสิทธิตามสัญญาได้ก็ต่อเมื่อได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาสิทธิตามสัญญา ไม่ใช่เกิดทันทีที่เกิดสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น เมื่อผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต ถึงแก่ความตายก่อนผู้เอาประกันชีวิต จึงไม่เอาจแสดงเจตนาเข้าถือเอาสิทธิตามสัญญาประกันชีวิตได้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตก็จะไม่เป็นมรดกของผู้รับประโยชน์

แล้วก็เกิดปัญหาต่อไปว่า หากต่อมาผู้เอาประกันชีวิตตาย ใครจะมีสิทธิในเงินประกันชีวิต เพราะผู้รับประโยชน์ตายไปก่อนแล้วก็ไม่มีสิทธิ อีกทั้งเงินประกันชีวิตก็ไม่เป็นมรดกของผู้เอาประกันชีวิตอีกด้วยตามเหตุผลที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า แล้วต้องทำยังไงต่อไป บริษัทประกันก็ไม่ต้องจ่ายให้ใครเลยใช่หรือไม่ ปัญหานี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยแล้วว่า กรณีที่ผู้รับประโยชน์ตายก่อนผู้เอาประกันชีวิต ประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของผู้เอาประกันหรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของผู้เอาประกัน

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1599
เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554
ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp