เมื่อถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัว ผู้ต้องหามีสิทธิอะไรบ้าง ???

ผู้คนส่วนใหญ่อยากมีสิทธิหรือได้สิทธิที่กฎหมายกำหนดความคุ้มครองไว้ แต่ก็มีบางกรณีที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากได้สิทธิหรือไม่อยากมีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นั่นก็คือกรณีต้องตกเป็นผู้ต้องหา เพราะคนเราทุกคนไม่อยากที่จะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่หากเกิดตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใด กฎหมายได้กำหนดสิทธิไว้สำหรับผู้ต้องหาดังต่อไปนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับแจ้งให้ทราบว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้
  2. สิทธิที่จะไม่ตอบคำถามของเจ้าพนักงานสอบสวนเว้นแต่คำถามที่ถามชื่อหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย หรือให้การในชั้นสอบสวนโดยจะให้การหรือไม่ให้การในชั้นสอบสวนก็ได้
  3. สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม
  4. สิทธิที่จะพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายความสองต่อสอง
  5. สิทธิที่จะให้ทนายความหรือคนที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำของตนได้
  6. สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร
  7. สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ทรมาน หรือใช้วิธีหลอกลวงให้รับสารภาพ
  8. สิทธิที่จะได้รับการพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย
  9. สิทธิในการขอประกันต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วกรณีไม่ได้ประกันต้องได้รับแจ้งเหตุผลให้ทราบโดยเร็ว

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรกและให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย
(1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
(3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
(4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิตามวรรคหนึ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ ต่อเมื่อ มีเหตุอันควรเชื่อ เหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะหลบหนี
(๒) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะไปยุ่งเหยิง กับพยานหลักฐาน
(๓) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(๔) ผู้ร้องขอประกัน หรือ หลักประกัน ไม่น่าเชื่อถือ
(๕) การปล่อยชั่วคราว จะเป็นอุปสรรค หรือ ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการสอบสวน ของเจ้าพนักงาน หรือ การดำเนินคดีในศาล
คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว ต้องแสดงเหตุผล และ ต้องแจ้งเหตุดังกล่าว ให้ผู้ต้องหา หรือ จำเลย และ ผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบ เป็นหนังสือ โดยเร็ว

๑. ฎีกาที่ 3119/2550 แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 7/1 (2) จะบัญญัติให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ในชั้นสอบสวนและมาตรา 134/3 บัญญัติว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ และมาตรา 134/4 (2) บัญญัติในเรื่องการถามคำให้การผู้ต้องหานั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ก็ตาม แต่ในบทบัญญัติของมาตรา 134/4 วรรคท้าย ก็บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็หาทำให้การสอบสวนคดีไม่ชอบแต่อย่างใดไม่


๒.ฎีกาที่ 2015/2547 การแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามมาตรา 7/1 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ต้องระบุไว้ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบและไม่อาจรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นพยานหลักฐานได้

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp