แจ้งความไปตามความเข้าใจของตน ว่ามีผู้กระทำผิดอาญา แต่ความจริงเขาไม่ผิดผู้แจ้งจะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่

กรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่ามีเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง ไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊ก พาดพิงถึงอดีตพระนักเทศน์ชื่อดังในทำนองเนรคุณพระพุทธศาสนา อดีตพระจึงสวนกลับอย่างดุเดือด ต่อมาจึงมีทนายความคนหนึ่งได้โพสต์ภาพว่าได้แจ้งความเอาผิดกับอดีตพระนักเทศน์ ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าอาวาสให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นประการใดก็ไม่ขอก้าวล่วง
แต่จากกรณีดังกล่าวก็ได้มีนักกฎหมายได้ออกมาพูดในทำนองที่ว่า การที่ทนายความไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่าประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับใคร แล้วเขาไม่ผิด ผู้ที่ไปกล่าวโทษจะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

จึงทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยว่า การไปร้องทุกข์กล่าวโทษโดยเข้าใจว่ามีผู้กระทำความผิดอาญา จึงได้เล่าไปตามข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่าพนักงานสอบสวนหรืออัยการมีคำความเห็นไม่สั่งฟ้อง หรือศาลยกฟ้องก็ตาม เช่นนี้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่

ข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณามีดังต่อไปนี้
การแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา คือ การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย การแจ้งข้อความทำโดยวิธีใดก็ได้ จะเริ่มต้นโดยผู้กระทำความผิดเข้ามาแจ้งด้วยตนเองหรือตอบคำถามเจ้าพนักงานก็ได้ โดยเป็นการแจ้งข้อความในลักษณะที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่ไปแจ้งว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง หรือไม่เห็นเหตุการณ์แต่กลับไปแจ้งว่าเห็น อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือการคาดคะเน ทั้งข้อความอันเป็นเท็จนั้นต้องเป็นข้อความซึ่งเป็นสาระสำคัญในอดีตหรือในปัจจุบันที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องในอนาคต และเป็นข้อสำคัญในคดี

ประการสำคัญคือ ต้องเป็นการแจ้งเท็จในข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมาย เช่นนี้ แม้ว่าข้อความที่แจ้งไม่เป็นเท็จ แม้ว่าจะมีการให้ความเห็นในทางกฎหมายถึงการกระทำตามข้อเท็จจริงนั้นในภายหลังผิดไปจากที่แจ้งก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ เช่น การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นาย ก ในข้อหายักยอกทรัพย์ โดยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามลำดับเหตุการณ์ ไม่ได้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดที่เป็นเท็จ เช่นนี้ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะการกระทำตามที่แจ้งความจะเป็นความผิดหรือไม่ ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญเพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนและนักงานอัยการจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง การกระทำของผู้แจ้งความก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งตามมาตรา 172 และ 173 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4248/2561

ดังนั้น การไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่าประสงค์ดำเนินคดีอาญากับใคร โดยที่แจ้งข้อความไปตามความเข้าใจของตน ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แม้สุดท้ายแล้วการกระทำตามที่ตนแจ้งนั้นจะไม่เป็นความผิด ผู้แจ้งข้อความก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หรือ 173 แล้วแต่กรณี
ท่านที่สนใจสามารถศึกษากฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 137
ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ ความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5151/2563 แม้พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดข้อหายักยอก แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวโดยเห็นว่าหลักฐานไม่พอก็ตาม คำสั่งของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นที่พิจารณาสั่งไปตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันคดีนี้ให้ต้องพิจารณาไปตามนั้น เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย แต่คดีนี้จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่จำเลย โดยมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4248/2561 การที่จำเลยมอบอำนาจให้ พ. ไปเเจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีเเก่โจทก์กับ ป. ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์เเละทำให้เสียทรัพย์ เป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน ข้อความที่ พ. เเจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเเละตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำตามที่จำเลยเเจ้งจะเป็นความผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนเเละรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานใดซึ่งไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการเเจ้งความย่อมหมายถึงการเเจ้งเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย เเม้ต่อมาพนักงานสอบสวนเเละพนักงานอัยการจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโจทก์กับ ป. ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 เเละมาตรา 173

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp