
แชทไลน์ใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่??
ในปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารกันผ่านทางช่องทางออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมของคนในสังคม เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆก็ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินผ่านทางแชทไลน์ หรือเฟสบุ๊คก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าข้อความแชทยืมเงินจะสามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่
ประเด็นดังกล่าว มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 เรื่อง หลักฐานการกู้ยืมเงิน ในการกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม จะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ กล่าวคือ ต้องมีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการกกู้ยืมเงินกันจริงๆ มีข้อความว่าผู้กู้จะคืนเงินให้ผู้ให้กู้ และที่สำคัญคือต้องมีการลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย ในทางกลับกัน หากกู้ยืมเงินไม่เกิน 2,000 บาท ก็ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ สามารถฟ้องร้องบังคับคดีโดยนำพยานบุคคลเข้าสืบได้
อย่างไรก็ตามพยานหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นกระดาษเสมอไป ขอแค่เพียงแสดงให้เห็นว่าได้มีการกู้ยืมเงินกันจริงๆ ประกอบกับได้แสดงให้เห็นว่าผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อเอาไว้ก็เพียงพอแล้ว ในกรณีของการกู้ยืมเงินผ่านทางแชทไลน์ หรือเฟสบุ๊ค หรือช่องทางอื่นใดก็ตามที่มีลักษณะของการโต้ตอบกันไปมา ก็สามารถแสดงให้เห็นข้อความการกู้ยืมเงินได้ แต่เป็นเพียงข้อความที่ไม่ได้มีการลงลายมือชื่อของผู้กู้แต่อย่างใด จึงเกิดปัญหาว่าถ้าไม่มีลายมือชื่อของผู้กู้ ก็ถือว่าขาดอองค์ประกอบของหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ใช่หรือไม่
ประเด็นดังกล่าว สามารถนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับได้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่นำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นด้วย
ดังนั้น การกู้ยืมเงินโดยส่งข้อความสื่อสารกันผ่านทางไลน์ หรือทางเฟสบุ๊ค จึงถือได้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จึงอยู่ในบังคับที่ห้ามปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความนั้น ประกอบกับพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดให้การจัดทำข้อความเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้น เป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
สรุปได้ว่า เมื่อมีการกู้ยืมเงินผ่านทางช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ หรือเฟสบุ๊ค หรือช่องทางอื่นใด หากมีข้อความเพียงพอที่จะแสดงได้ว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินยอมสมัครใจ แม้ไม่มีลายมือชื่อของผู้กู้ ก็สามารถนำข้อความดังกล่าวมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญากู้ยืมเงินได้ นอกจากนี้การทำนิติกรรมใดๆที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ ไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นการกู้ยืมเงินท่านั้น เช่น การทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่า20,000 บาทขึ้นไป หรือสัญญาค้ำประกัน หากเพียงแค่สื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ถ้าสามารถแสดงให้เห็นว่ามีการตกลงสมัครใจตามข้อความนั้นจริง แม้ว่าจะไม่มีลายมือชื่อของผู้ต้องรับผิด ก็สามารถนำข้อความนั้นมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อฟ้องร้องบังคับกันได้
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
มาตรา 7 ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา 8 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
มาตรา 9 ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า
(1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556 การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง