โอนเงินมาผิดบัญชี ไม่คืนเงินได้หรือไม่

การโอนเงินไปผิดบัญชีธนาคาร หากเจ้าของบัญชีปลายทางที่ได้รับโอนเงินไปได้ปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นเรื่องเงินจำนวนดังกล่าวและไม่ยอมคืนเงินให้ กรณีจึงทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยทางกฎหมายว่า ผู้ที่ได้รับโอนเงินต้องคืนเงินให้กับผู้โอนหรือไม่ หากไม่คืนจะมีความผิดตามกฎหมายอย่างไร

ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

ลาภมิควรได้ ตามความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง การที่บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายและเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ

การได้ทรัพย์มาจากผู้อื่นนั้นไม่จำกัดวิธีการ เช่น ได้รับโอนทรัพย์มา ส่วนคำว่า การได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ หมายถึง การได้ทรัพย์มาโดยไม่มีสัญญาหรือฐานทางกฎหมายรองรับ รวมถึงสัญญาที่ทำขึ้นแล้วเกิดเหตุบางอย่างจนสัญญานั้นโมฆะหรือเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น เสมือนไม่มีนิติกรรมนั้นเกิดขึ้นมาเลย เมื่อปรากฏว่าการรับทรัพย์มาแล้วทำให้บุคคลอื่นเสียเปรียบหรือเสียทรัพย์โดยที่ไม่สมควร จึงเป็นนิติเหตุฐานลาภมิควรได้

ผลของลาภมิควรได้ ทำให้ผู้ที่รับทรัพย์นั้นมาจะต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่เจ้าของ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้แต่กฎหมายบัญญัติให้ไม่ต้องคืนทรัพย์นั้น เช่น การชำระหนี้ตามอำเภอใจ การชำระหนี้โดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี การชำระหนี้ที่ขาดอายุความแล้ว เป็นต้น

ถ้าลาภมิควรได้ที่ได้รับไว้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ผู้รับก็ต้องคืนเงินเต็มจำนวน เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน แต่หากบุคคลนั้นได้รับทรัพย์ไว้โดยสุจริต เช่น เชื่อว่าเป็นเงินที่ลูกค้าโอนมาเพื่อชำระค่าสินค้า จึงได้เบิกเงินจำนวนนั้นไว้ใช้เพราะเชื่อว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตน เช่นนี้ ก็ต้องใช้เงินคืนให้แก่เจ้าของเช่นกัน แต่ใช้เงินคืนเพียงเท่าจำนวนที่เหลืออยู่ขณะที่เรียกคืนเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าใช้จนหมดแล้วก็ไม่จำต้องคืน

แต่ถ้าลาภมิควรได้ที่ได้รับไว้นั้นเป็นทรัพย์อย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน บุคคลที่ได้รับทรัพย์สิน จะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นด้วย แต่ถ้ารับไว้โดยสุจริต คือเชื่อโดยสุจริตว่าทรัพย์นั้นเป็นสิทธิที่ตนควรจะได้ เช่นนี้ ก็คืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย

กรณีตามข่าวที่เกิดขึ้น การที่เจ้าของบัญชีปลายทางได้รับโอนเงินผิดบัญชี จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายและเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ เป็นนิติเหตุฐานลาภมิควรได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้รับโอนเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเงินของตน เช่นนี้ก็ให้คืนเงินเท่าจำนวนที่เหลืออยู่ แต่ถ้ารู้ว่าเงินนั้นไม่ใช่ของตน ผู้รับโอนเงินผิดบัญชีจึงต้องคืนเงินเต็มจำนวน

มีข้อสงสัยเพิ่มเติมว่า เมื่อรู้ว่าไม่ใช่เงินของตน แต่ก็ไม่ยอมคืน มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่

ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาคือ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา คือ การครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต กล่าวคือ มีเจตนาแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

ดังนั้น การไม่ยอมคืนเงินให้ผู้โอนเงินผิดบัญชี ทั้งที่รู้ว่าเงินนั้นไม่ใช่ของตน ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี แต่เนื่องจากเงินนั้นได้ตกมาอยู่ในบัญชีเงินฝาก โดยเกิดจากการที่ผู้โอนเงินสำคัญผิดไป ก็ระวางโทษเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น

ศึกษาข้อกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาเพิ่มเติมได้ดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย

บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10185/2558 โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยผิดพลาด และโจทก์ได้แจ้งจำเลยให้คืนเงินแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ กรณีนี้จำเลยได้เงินจากโจทก์มาด้วยประการอื่นโดยปราศจากมูลอันอ้างกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยมีหนี้ต่อกัน การได้มาซึ่งเงินนั้นย่อมเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2135/2539 เจ้าหน้าที่ของธนาคารผู้เสียหายได้นำเงินฝากจำนวน 60,000 บาทของลูกค้ารายอื่นเข้าบัญชีของจำเลยโดย ผิดพลาด ปรากฏว่าจำเลยประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งเป็นกิจการเล็กๆมีเงินทุนหมุนเวียนเข้าออกบัญชีจำนวนเล็กน้อยสามารถตรวจสอบและรู้ถึงการนำเงินเข้าออกบัญชีได้โดยง่ายจึงฟังได้ว่าจำเลยรู้ว่ามีการนำเงินของผู้อื่นเข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาดการที่จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินดังกล่าวออกไปจากบัญชีของจำเลยเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นไป โดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคสอง

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp