ใช้เฟสบุ๊ค/ไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เสี่ยงโทษ!!

ใช้เฟสบุ๊ค/ไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เสี่ยงโทษ!!

จากที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่ามีมือปริศนาใช้เฟสบุ๊คและไลน์ของผู้อื่นมาโพสต์คลิปวิดีโอ รูปภาพ และข้อความต่างๆนานา มีทั้งรูปภาพส่วนตัวของเจ้าของบัญชีรวมถึงมีการพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ ทำให้คนในสังคมเกิดความสับสนเข้าใจผิด ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหาย จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่าผู้กระทำมีความผิดหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้วางหลักว่า การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่มีมาตรการป้องกันไว้โดยไม่ชอบ มีความผิด โดยคำว่า คอมพิวเตอร์ หมายถึงทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ค สมาร์ตโฟน แท็บเล็ท รวมถึงระบบต่างๆ ที่ถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยพ.ร.บ.นี้มีขึ้นเพื่อป้องกัน ควบคุมการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้คอมพิวเตอร์ หากใครกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นี้ ก็จะต้องได้รับการลงโทษตามที่ พ.ร.บ. กำหนดไว้

เช่นนี้ การเข้าใช้เฟสบุ๊คหรือไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็เป็นการเข้าถึงซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตนโดยมิชอบ แม้ว่าจะเป็นการเข้าสู่ระบบผ่านทางโทรศัพท์มือถือก็มีความผิด เพราะโทรศัพท์มือถือก็เป็นระบบทางคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง

หากปรากฏข้อเท็จจริงการที่เข้าบัญชีเฟสบุ๊คหรือไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจากการโพสต์รูปภาพ หรือข้อความต่างๆได้รับความเสียหาย กรณีเช่นนี้ผู้กระทำก็อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาได้ เพราะว่าพฤติการณ์ของการโพสต์ลงเฟสบุ๊คนั้นเป็นการโพสต์ในทำนองใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งไม่ว่าข้อความที่โพสต์นั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ทั้งเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เช่นนี้ผู้กระทำก็เข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาแล้ว นอกจากนี้หากการที่โพสต์รูปภาพ ข้อความต่างๆเป็นการพาดพิงและใส่ความไปถึงผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และการเผยแพร่นั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้ตายเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เช่นนี้ผู้กระทำก็เข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายได้

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

มาตรา 7 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง โดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531 จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า”พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก” ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียนแต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาจำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2558 การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp