ใช้เหล้าหรือน้ำเทราดใส่ศีรษะผู้อื่นเป็นการทำร้ายร่างกายหรือไม่ ???

ภาพจาก www.khaosod.co.th

กรณีที่มีข่าวผู้ชายคนหนึ่งไม่พอใจหญิงสาวที่ไปขอชนแก้ว แต่หญิงสาวไม่ยอมและชายคนนั้นใช้น้ำเทราดศีรษะหญิง การใช้น้ำเทราดถือเป็นการใช้กำลังทำร้ายร่างกายหรือไม่และหญิงที่ถูกกระทำสามารถป้องกันสิทธิตนเองได้เพียงใดหรือไม่

LAWRAI มีคำตอบในเชิงกฎหมายมาให้เช่นเคยครับ 

การประทุษร้ายหมายถึง การประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยการใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด รวมถึงการกระทำใดๆ ให้อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน

การใช้เหล้าหรือน้ำเทราดหรือสาดใส่ผู้อื่นถือเป็นการทำร้ายผู้อื่นแล้วแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเป็นเพียงความผิดลหุโทษ

แต่ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดให้กระทำได้ เมื่อมีการทำร้ายหรือมีผู้มาก่อภัย ผู้ที่ถูกทำร้ายก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะป้องกันสิทธิของตนที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ แต่การป้องกันก็ต้องพอสมควรแก่เหตุและหากภัยที่เกิดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ดังเช่นกรณีนี้ชายผู้ที่เทน้ำราดเดินหนีออกไปแล้ว ผู้ที่ถูกน้ำเทราดยังตามไปทำร้ายผู้ก่อภัยในเวลาต่อเนื่องกันอีกจะอ้างป้องกันไม่ได้ แต่อ้างบันดาลโทสะได้ 

ท่านที่สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (6) ใช้กำลังประทุษร้าย หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ คำพิพากษาฎีกาที่ 9244/2553 จำเลยใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหายอันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นการกระทำโดยเจตนาต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูก พ. เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ พ. โดยพลาดไปจึงเป็นความผิดฐานพยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายและใช้กำลังทำร้าย พ.โดยพลาดไปด้วย ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ทุกบทหรือจะขอให้ลงโทษเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2479 จำเลยใช้อุจจาระเทราดลงบนตัวเจ้าทุกข์ เพราะเหตุเป็นคนไม่ถูกกัน อุจจาระไหลเลอะแลเปื้อนเครื่องนุ่งห่มเสียหาย ดังนี้จำเลยมีผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่ถึงบาดเจ็บ

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp