
กรณีที่มีข่าวเรื่องที่ดินที่ยกให้ และมีการฟ้องร้องขับไล่กันนั้น เมื่อมีการยกที่ดินให้ไปแล้วต่อมาจะฟ้องเพิกถอนการให้และเรียกเอาที่ดินกลับคืนมาเป็นของผู้ให้ได้หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด
วันนี้ LAWRAI มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการให้ทรัพย์สิน และการฟ้องเพิกถอนการให้มาแบ่งปันให้ทราบกันครับ
1.การให้หมายถึงอย่างไร
2.ผู้ที่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการให้คือใคร
3.เหตุที่จะฟ้องเพิกถอนการให้มีเหตุใดบ้าง
4.อายุความในการฟ้องเพิกถอนการให้มีอายุความนานเท่าใด
คำตอบข้อ 1. การให้คือคือสัญญาที่ผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้รับและผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น และต้องเป็นการให้โดยเสน่หากล่าวคือเป็นการให้ที่ไม่มีค่าตอบแทน
คำตอบข้อ 2. ผู้ที่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการให้ก็คือผู้ให้นั่นเอง หากมีกรณีที่ต้องด้วยเหตุที่จะฟ้องเพิกถอนการให้ได้
คำตอบข้อ 3. เหตุที่จะฟ้องเพิกถอนการให้มีดังนี้
3.1 ผู้รับทำร้ายร่างกายผู้ให้
3.2 ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
3.3 ผู้รับไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีพแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
ซึ่งต้องเข้าลักษณะเหตุได้เหตุหนึ่งในสามเหตุดังกล่าวผู้ให้จึงจะฟ้องเพิกถอนการให้ได้ หากกรณีไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งผู้ให้ก็จะฟ้องเพิกถอนการให้ไม่ได้ และระยะเวลาในการฟ้องเพิกถอนมีกำหนดรพยะเวลาหกเดือน
ท่านที่สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาชญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 533 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2535 หมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)หาจำเป็นต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่เพียงแต่ได้ความว่า เจตนาดูหมิ่นก็ถือว่าประพฤติเนรคุณแล้ว จำเลยซึ่งได้รับการให้ที่ดินจากโจทก์ผู้เป็นบิดาด่าว่าโจทก์ว่า “ไอ้แก่กูไม่นับมึงเป็นพ่อ ออกไปให้พ้น ไม่ไปมึงตายกูไม่รับรู้” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์เรียกโจทก์ว่าไอ้แก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ว่าไม่นับถือโจทก์เป็นบิดา ขับไล่โจทก์ออกไปให้พ้น มิฉะนั้นโจทก์ตายจำเลยไม่รับรู้ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2553 ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า “อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้
ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 413 วรรคหนึ่งและมาตรา 534
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2528 การที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดาจนได้รับอันตรายแก่กาย ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยขาดความกตัญญู แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่ถึงสาหัสก็ถือได้ว่าจำเลยได้ประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้