ไม่ช่วยคนจมน้ำ เป็นความผิดหรือไม่ ?

จากกรณีมีข่าวดาราสาวชื่อดังพลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และจมน้ำเสียชีวิต จึงทำให้เกิดประเด็นตามมาว่า หากเห็นคนกำลังจะจมน้ำแล้วไม่ช่วย มีความผิดหรือไม่

วันนี้เรามีคำตอบมาเช่นเคยค่ะ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากการพิจารณาหลักกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่า ผู้ใด หมายถึง คนทุกคนซึ่งไม่จำกัดอายุ เพศ หรือการศึกษา หากได้มาพบเข้ากับผู้อื่นที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต อันเป็นภยันตรายที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ หรือภัยที่จะทำให้บุคคลถึงตายโดยไม่จำกัดว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด เช่น คนกำลังจะจมน้ำตาย เด็กที่คลานอยู่บนรางรถไฟ หรือคนที่นอนอยู่ในบ้านที่ไฟกำลังลุกไหม้ เป็นต้น หากปรากฏว่าผู้กระทำมีความสามารถที่อาจช่วยได้ แต่ก็ไม่ช่วยผู้อื่นตามความจำเป็น ผู้กระทำก็มีความผิด

อย่างไรถึงจะเรียกว่า มีความสามารถในการช่วยเหลือได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นนั้น ให้พิจารณาถึงกฎเกณฑ์ความพอดี คือ ผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นไม่จำเป็นต้องถึงกับบังคับให้ต้องเสี่ยงตัวเองเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้อื่น ขอเพียงให้แสดงพฤติกรรมว่าได้เข้าช่วยเต็มที่แล้วแม้จะช่วยไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เช่น เห็นคนกำลังจะจมน้ำตายแม้ว่าตนจะว่ายน้ำไม่เป็นก็อาจจะหากิ่งไม้หรือเชือกโยนไปให้ผู้นั้นเกาะ หรือถ้าไม่มีก็ต้องหาทางร้องเรียกให้คนอื่นช่วย เป็นต้น และผู้กระทำอยู่ในสภาพที่จะช่วยผู้ประสบภยันตรายนั้นได้โดยที่ตัวผู้จะช่วยนั้นจะไม่มีอันตรายหรือจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นด้วย

ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่เห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต หากตนมีความสามารถที่จะช่วยเหลือได้ แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ผู้นั้นก็มีความผิด แต่ในทางกลับกัน หากได้ความว่า ผู้นั้นได้พยายามเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นจนสุดความสามารถแล้ว แม้จะช่วยไม่สำเร็จก็ตาม ผู้นั้นก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด
แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้กระทำมีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงที่จะต้องป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

1. หน้าที่ตามกฎหมาย เช่น บิดามารดามีหน้าที่ที่จะต้องเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 แต่กลับปล่อยให้บุตรทารกอดอาหารจนตาย เพราะไม่อยากเลี้ยงไว้เป็นภาระ

2. หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเฉพาะเจาะจง เช่น ตำรวจได้รับมอบหายให้อารักขาวีไอพี แต่กลับปล่อยให้คนร้ายยิงวีไอพีตาย เพราะตนมีเจตนาที่จะให้วีไอพีตายอยู่แล้ว

3. หน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆของตน คือ หากการกระทำของผู้กระทำน่าจะก่อให้เกิดภยันตรายขึ้น ผู้กระทำย่อมมีความผูกพัน หรือหน้าที่ต้องป้องกันภยันตรายนั้น เช่น นายเอ เห็นนายบี ซึ่งเป็นคนตาบอดกำลังข้ามทางรถไฟ จึงเข้าไปช่วยเหลือ ปรากฏว่าเมื่อไปถึงตัวนายบี พบว่าเป็นศัตรูของตน เปลี่ยนใจไม่ช่วย จึงปล่อยให้นายบีอยู่กลางทางรถไฟ จนนายบีโดนรถไฟชนตายในที่สุด

4. หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง คือ ผู้กระทำไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับผู้เสียหายในลักษณะที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เช่น นายเอ กับนายบี นัดกันไปปีนเขา แต่นายบีพลัดตกลงไปในช่องเขา นายเอเพิกเฉยไม่ยอมให้ความช่วยเหลือ จนนายบีตายในที่สุด ประกอบกับมีเจตนาที่จะไม่ช่วยเหลือ ต้องการปล่อยให้ผู้ที่ประสบภยันตรายตาย ย่อมเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้กระทำได้มีการวางแผน และคิดทบทวนมาอยู่ก่อนแล้ว ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289 (4) หรือแม้ผู้กระทำไม่มีเจตนาฆ่า แต่ได้งดเว้นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำมีความผิดฐาน กระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 291

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374
ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576 – 577/2545 ผู้ตายทั้งสามมีบาดแผลที่บริเวณศีรษะเป็นจำนวนมากบาดแผลส่วนใหญ่เกิดจากการถูกตีด้วยของแข็งที่มีน้ำหนักมากจนกะโหลกศีรษะของแต่ละคนแตกกระจายทั่วไปเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมีเนื้อสมองออกมาจากบาดแผล สำหรับ ส. และ ช. ผู้ตายยังพบเศษดินโคลนและน้ำในหลอดลมซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าผู้ตายทั้งสามถึงแก่ความตายเนื่องจากสมองถูกทำลายจากของแข็งกระทบกระแทกและขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ ชี้ให้เห็นว่าก่อนผู้ตายทั้งสามจะถึงแก่ความตายได้ถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กับพวกใช้ของแข็งไม่มีคมทุบตีที่บริเวณศีรษะอย่างรุนแรงหลายครั้งอย่างโหดเหี้ยมหลังจากนั้นยังถูกนำไปทิ้งน้ำ ทั้งยังมีชีวิตอยู่ แสดงว่ามีเจตนาฆ่าโดยการทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561 การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555 วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลงทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง แล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ ทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุ เป็นเวลานานถึง 8 วัน และไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย

Facebook
Twitter
Email
WhatsApp