
จากกรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดในคดีดังคดีหนึ่ง ไม่ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะรวมถึงสารเสพติด จึงเกิดข้อสงสัยว่าสามารถปฏิเสธไม่ตรวจได้หรือไม่ จะเป็นการผิดกฤหมายหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ เรื่องการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในชั้นสอบสวนคดีอาญา โดยหลักแล้ว ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงกฎหมายได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับความผิด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตามในกรณีที่เป็นความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี และจำเป็นต้องตรวจพิสูจน์โดยเก็บตัวอย่างจากเลือด เส้นผม ปัสสาวะ หรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจในการให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทำการเก็บตัวอย่างได้ก็ต่อเมื่อ บุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นได้งให้ความยินยอม และต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควร เพื่อให้เกิดความเสียหายและความเจ็บปวดน้อยที่สุด และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและอนามัยของบุคคลนั้น เช่นนี้หากเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง 3 ปี พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจกระทำการได้เลย โดยไม่ต้องขอความยินยอม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2558 ที่ได้เคยมีคำวินิจฉัยเอาไว้ หากปรากฏว่าพนักงานสอบสวนละเลยไม่ตรวจพิสูจน์ทั้งที่มีพฤติการณ์เกี่ยวกับความผิดชี้ชัดแล้วนั้น พนักงานสอบสวนอาจมีความผิดฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ประเด็นต่อมาคือว่า หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความยินยอมจะเกิดผลประการใด
กรณีดังกล่าว กฎหมายให้สันนิษฐานไว้เบื่องต้นว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายส่วนในกรณีของการตรวจสารเสพติดนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติดได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะให้อำนาจเจ้าพนักงาน ปปส. สั่งให้รับการตรวจเพื่อทดสอบว่ามีสารเสพติดในร่างกายได้ ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีการเสพยา และหากผู้ที่ถูกสั่งให้เข้ารับการทดสอบสารเสพติด ไม่ยินยอมให้ทดสอบ อาจมีความผิด โดยมีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
มาตรา 131/1 ในกรณีที่จําเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนมีอํานาจให้ทําการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกินสามปีหากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จําเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอํานาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดําเนินการตรวจดังกล่าวได้แต่ต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทําได้ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายกระทําการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้น แล้วแต่กรณี
ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือสํานักงานอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณีกําหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ประมวลกฎหมายยาเสพติด
มาตรา 176 ผู้ใดไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือวัตถุใด ๆ หรือไม่ยอมให้มีการตรวจหรือทดสอบว่าผู้ใดมียาเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการ ป.ป.ส.รองเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการสืบสวน สอบสวน หรือตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจาทั้งปรับ
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564
มาตรา 11/2 ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงานป.ป.ส. มีอานาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่
วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กาหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2558 คดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีเท่านั้น หากพนักงานสอบสวนจะทำการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 131/1 วรรคสอง คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เป็นคดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี จึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว การที่พนักงานสอบสวนพบจำเลยนอนหมดสติอยู่บนเตียงผู้ป่วยและได้กลิ่นสุรา แต่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ จึงเป็นกรณีที่พันตำรวจโท ส. สงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือไม่ พันตำรวจโท ส. จึงมีอำนาจที่จะทำการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131/1 วรรคหนึ่ง การที่พันตำรวจโท ส. มีหนังสือขอให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยเก็บตัวอย่างเลือดของจำเลยเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การสอบสวนของพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย