
จากกรณีปรากฏเป็นกระแสข่าวดังว่ามีหญิงสาวรายหนึ่ง ไม่ยอมหลีกทางให้รถกู้ภัยซึ่งเปิดสัญญาฉุกเฉินเพื่อรีบไปรับผู้ป่วยวิกฤต จนสุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยรายนั้นเสียชีวิต นอกจากความรับผิดตามกฎหมายจราจรแล้ว จึงทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าหญิงสาวรายนั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยหรือไม่
ในประเด็นดังกล่าว ต้องพิจารณาไปถึงพฤติการณ์ของผู้ขับขี่ กล่าวคือ ถ้าหากข้อเท็จจริงเป็นไปว่าผู้ขับขี่ซึ่งมีอาชีพเป็นผู้ช่วยพยาบาลย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่า การที่มีรถกู้ชีพเป็นสัญญาณไฟฉุกเฉินขอทาง แสดงว่าต้องมีเหตุที่จำเป็นเร่งด่วงเกิดขึ้น และต้องหลีกทางให้กับรถกู้ชีพ เพื่อให้สามารถไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภยันตรายได้ทัน เมื่อผู้ขับขี่เห็นสัญญาณไฟขอทางประกอบกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ได้พูดผ่านลำโพงเพื่อขอทาง แต่ผู้ขับขี่ก็ไม่ได้หลบแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ผู้ขับขี่ย่อมเล็งเห็นหรือคาดหมายได้ว่าการที่ไม่หลีกทางให้กับรถฉุกเฉิน จะทำให้รถฉุกเฉินเสียเวลา ต้องใช้เวลาในการไปรับผู้ประบภัยนานขึ้น ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ผู้ขับขี่ก็ยังคงไม่หลีกทางให้ จึงถือว่าผู้ขับขี่มีเจตนาฆ่าผู้ป่วยวิกฤตรายนั้น เมื่อท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยวิกฤตได้ถึงแก่ความตาย การกระทำของผู้ขับขี่จึงเข้าข่ายมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีระวางโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความตายของผู้ป่วย เป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้ขับขี่ไม่หลบรถกู้ภัยหรือไม่ กล่าวคือ การที่ผู้ขับขี่ไม่หลบรถกู้ภัย ทำให้รถกู้ภัยต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น จนไม่สามารถไปรับผู้ป่วยวิกฤตได้ทัน จึงเสียชีวิตลงในที่สุด ก็ถือว่าได้ว่าความตายของผู้ป่วยเป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของผู้ขับขี่ ในทางตรงกันข้าม แม้ผู้ขับขี่หลีกทางให้รถฉุกเฉิน แต่ผู้ป่วยรายนั้นก็ยังคงต้องเสียชีวิตอยู่นั่นเอง ก็จะถือว่าความตายเป็นผลจากการกระทำของผู้ขับขี่ไม่ได้ ทั้งนี้ก็จะต้องพิจารณาจากผลการชันสูตรพลิกศพและปัจจัยอื่นๆประกอบกันด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือว่า หากไม่สามารถหลบได้ทันจริงๆ ทำให้รถกู้ภัยไม่สามารถที่จะไปรับผู้ป่วยได้ทัน จึงเสียชีวิตในที่สุด เช่น อาจจะเพราะมีรถข้างหน้าขวางทางอยู่ จึงไม่อาจเบี่ยงเข้าเลนส์ซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถฉุกเฉินไปรับผู้ป่วยได้ทัน ผู้ขับขี่จะยังคงมีความผิดหรือไม่
กรณีดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำด้วยความจะเป็น ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 67 กล่าวคือ เป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำ เพราะมีภยันตรายอันใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผู้กระทำจึงต้องกระทำเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตราย และการกระทำนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ เช่นนี้ การที่มีรถคันหน้าขวางทางอยู่ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถเบี่ยงเข้าเลนส์ซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถฉุกเฉินไปรับผู้ป่วย จึงถือเป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำ เนื่องจากมีภยันตรายที่ใกล้จะถึงคือรถที่ขวางทางอยู่ข้างหน้า ซึ่งถ้าหากผู้ขับขี่ต้องหลีกทางให้รถฉุกเฉิน ก็อาจจะทำให้ตนเองต้องได้รับอันตราย ผลทางกฎหมายก็ทำให้ ผู้ขับขี่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้เพราะเกิดจากการกระทำด้วยความจำเป็น ผู้กระทำจึงไม่ต้องรับผิดในทางอาญา
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายเพิ่มเติมได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 67 ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8650/2561 จำเลยขับรถไล่ตามรถของผู้เสียหายที่ ๑ ในระยะกระชั้นชิดแล้วใช้อาวุธปืน ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ยิงใส่รถของผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งอยู่ด้านหน้า ๓ นัด ในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองนั่งอยู่ในห้องโดยสาร จำเลยย่อมเล็งเห็นหรือคาดหมายได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกบุคคลที่นั่งอยู่ในรถของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงแก่ความตายได้ ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง เมื่อจำเลยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนที่ยิงไม่ถูกผู้เสียหายทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9738/2544 บทบัญญัติในเรื่องการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 แบ่งแยกความจำเป็นออกเป็น 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นได้ หรืออีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำ แต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น การกระทำด้วยความจำเป็นอันเป็นมูลเหตุแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2542 ผู้ตายมีโรคเดิมอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการตกใจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติทำให้หัวใจวายอันเป็นสาเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้การที่จำเลยใช้ก้อนหินตีที่หน้าของผู้ตายทำให้เกิดอาการตกใจ หัวใจเต้นผิดปกติจนถึงแก่ความตาย ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย เป็นความผิดฐานมิได้เจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย แม้ผู้ตายเคยเข้ารับการรักษาโรคหัวใจมาก่อน ก็ไม่เป็นเหตุให้รับฟังว่าผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิใช่เกิดจากการทำร้ายของจำเลย