
โพสต์ด่าผู้อื่นแต่ไม่ได้ระบุชื่อว่าหมายถึงใคร ผิดหรือไม่??
จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวดังว่ามีชายรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นถึงการกระทำของทนายความท่านหนึ่งโดยที่ไม่ได้ระบุชื่อ แล้วมีการติดแฮชแท็กว่า #ทนายขยะ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่
ประเด็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาทางกฎหมาย ดังนี้
ความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ การที่ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การใส่ความคือ การทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงโดยอาจเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ โดยการใส่ความไม่จำกัดวิธี อาจใช้วิธีการ เขียน พูด หรือการวาดภาพก็ได้ หากได้ความว่าการใส่ความผู้อื่นได้กระทำต่อบบุคลที่สาม ประกอบกับน่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว
อย่างไรก็ตามหากเป็นข้อความที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เช่น โจทก์เป็นผีกลับชาติมาเกิด เช่นนี้ก็อาจจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากความรู้สึกนึกคิดของบุคคคลธรรมดาทั่วไปไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น จึงไม่ทำให้ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อ ข้อความนั้นไปถึงบุคคลที่สามแล้ว โดยต้องไม่ใช่กรณีที่บุคคลที่สามทราบข้อเท็จจริงนั้นโดยบังเอิญหรือสอดเข้ามาทราบข้อความนั้นเอง มิฉะนั้นจะเป็นกรณีที่ขาดเจตนากระทำความผิด ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่อย่างใด
สำหรับในการพิจารณาว่าจะเป็นข้อความที่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูหมิ่น เสียชื่อเสียง หรือถูกเกลียดชังหรือไม่นั้น พิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดของวิญญูชนทั่วไป กล่าวคือ บุคคลที่มีความรู้สึกนึกคิดในศีลธรรมอย่างเป็นกลางๆ แม้ผู้เสียหายมองว่าเป็นข้อความที่ทำให้ได้รับความเสียหาย แต่หากวิญญูชนไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้น การกระทำนั้นก็อาจจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่อย่างใด
คำว่า ทนายขยะ น่าจะมาจากคำว่า ขยะสังคม เป็นสำนวนไทยคำหนึ่ง ซึ่งหากนำมาใช้กับคนแล้ว จะทำให้ได้ความหมายว่า คนที่ไม่ก่อประโยชน์แล้วยังทำตัวเป็นภาระของสังคม เช่นนี้ คำว่าทนายขยะ จึงน่าจะหมายความว่า เป็นทนายที่ไม่ก่อประโยชน์และทำให้เป็นภาระต่อสังคม ซึ่งเป็นคำที่น่าจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความถึงนั้นเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง เพราะเป็นคำพูดที่ลดทอนคุณค่าของผู้ถูกพาดพิงถึง เช่นนี้จึงอาจจะเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามมาว่า ในการโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น ไม่ได้ระบุชื่อว่าหมายถึงใคร จะเป็นความผิดหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้ว่า แม้จะไม่ได้ระบุชื่อว่าหมายถึงใครก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่นั้น จะพิจารณาเฉพาะถ้อยคำใดถ้อยคำหนึ่งไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่และเวลาโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกัน เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วสามารถทราบได้ว่าหมายถึงผู้ใด ผู้กระทำก็เข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาท
อย่างไรก็ตามการที่โพสต์ข้อความโดยไม่ได้ระบุชื่อนั้น หากต้องทำให้บุคคลที่สามไปสืบแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าหมายถึงผู้ใด และหลังจากสืบแล้วจึงทราบว่าหมายถึงผู้เสียหาย ก็ไม่ถือว่าเป็นการทราบจากข้อความที่โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่ทราบจากการที่ไปสืบค้นข้อเท็จจริงมาภายหลัง เช่นนี้ผู้กระทำก็จะไม่มีความผิด
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมของข้อความที่ผู้กระทำโพสต์ลงโซเชียลมีเดียแล้ว แม้จะไม่ได้ระบุชื่อว่าหมายถึงผู้ใด แต่หากเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้ถูกใส่ความ เพราะมีคำโดยเฉพาะที่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจได้ว่าคือผู้เสียหาย โดยที่บุคคลที่สามไม่จำต้องไปเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมเลย ประกอบกับคำว่า ทนายขยะ เป็นคำที่ลดทอนคุณค่า ทำให้ผู้อื่นนั้นถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เช่นนี้ ผู้กระทำก็อาจเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551 การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด
ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10840/2557 การพิจารณาว่าผู้กล่าวใส่ความมุ่งหมายให้คำกล่าวใส่ความสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความคนใด นั้น จะพิจารณาแต่เพียงถ้อยคำพูดเฉพาะส่วนใด แยกเป็นส่วน ๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องพิจารณาภาพรวมที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน อีกทั้งยังอาจต้องพิจารณาถึงสถานที่และเวลาโอกาสรวมทั้งประเด็นปัญหาและเป้าหมายที่ผู้กล่าวใส่ความต้องการสื่อถึงผู้รับฟังคำพูดนั้นประกอบกันด้วย ซึ่งเมื่อนำข้อพิจารณาเช่นว่านี้มาวินิจฉัยประกอบคำพูดอภิปรายของจำเลยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมดแล้วมีข้อความโดยรวมบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยมุ่งหมายใส่ความพาดพิงถึงบริษัทโจทก์ซึ่งมีนางปราณีภริยาของนายแพทย์สุรพงษ์ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทด้วยผู้หนึ่ง และบริษัทโจทก์ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพราะนายแพทย์สุรพงษ์ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทโจทก์นั่นเอง คำกล่าวอภิปรายของจำเลยเช่นนี้ได้ความชัดเจนเพียงพอที่ทำให้ผู้ฟังคำอภิปรายเข้าใจได้ว่าบริษัทที่จำเลยยกตัวอย่างว่าได้รับประโยชน์จากการที่นายแพทย์สุรพงษ์ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตยกเว้นภาษีสรรพสามิต คือ บริษัทโจทก์ นั่นเอง หาอาจเข้าใจว่าเป็นบริษัทอื่นนอกจากบริษัทโจทก์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562 ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า “สถุล” ให้ความหมายว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า “สถุล” แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดีและเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้