
ผู้บริโภคนำสืบพยานบุคคลถึงการใช้เงินตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือได้หรือไม่?
ในบางครั้งเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน คนเราก็มีความจำเป็นต้องใช้เงิน บ้างก็กู้ยืมเงินในระบบถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ไม่น้อยเลยที่กู้ยืมเงินนอกระบบแล้วถูกเอารัดเอาเปรียบ เมื่อถึงเวลาที่ต้องคืนเงินก็คืนไปเฉยๆโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเอกสารต่างๆเพื่อให้เป็นหลักฐานว่าได้ชำระหนี้แล้ว จึงถูกเจ้าหนี้ซึ่งมีอำนาจมากกว่าเอาเปรียบโดยการอ้างว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้บ้าง หรือได้รับชำระหนี้ไม่ครบบ้าง จึงเกิดข้อสงสัยว่าแล้วในกรณีดังกล่าวผู้กู้ยืมเงินจะทำอย่างไรได้บ้าง
ประเด็นดังกล่าวมีข้อพิจารณาทางกฎหมายดังนี้
การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท ขึ้นไปจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด ก็คือ ผู้กู้ยืมเงิน มิฉะนั้นจะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดี โดยหลักแล้วเมื่อเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ผู้กู้จะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 เช่นนี้หากผู้กู้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งที่มีใจความว่าผู้ให้กู้ได้รับชำระหนี้เงินยืมคืน โดยโจทก์ผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อมาแสดง และหนังสือกู้ยืมก็ยังอยู่ในความครอบครองของผู้ให้กู้โดยไม่ได้แทงเพิกถอนว่าได้รับชำระเงินคืนแล้ว ผู้กู้ย่อมไม่อาจนำสืบถึงการใช้เงินได้
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 10 วางหลักว่า ไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับให้นิติกรรมใดที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระหนี้ แม้กฎหมายจะบัญญัติถึงในกรณีที่ผู้บริโภคฟ้องให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระหนี้เท่านั้นที่จะได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วพบว่าไม่เพียงต้องการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะโจทก์เท่านั้น แต่ยังมุ่งคุ้มครองถึงในการดำเนินกระบวนพิจารณาในกรณีที่ตกเป็นจำเลย ดังนั้นจึงให้มีผลใช้บังคับถึงกรณีที่ผู้บริโภคต่อสู้คดีด้วย ทั้งยังรวมถึงการไม่ให้นำมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับในการพิสูจน์ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคอีกด้วย
ดังนั้น ผู้กู้ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคก็ยังมีสิทธินำพยานบุคคลนำสืบถึงการใช้เงินได้ โดยไม่อยู่ในบังคับว่าการนำสืบการใช้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว ตามที่มาตรา 653 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้
หลักกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็น หลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 10 บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับให้นิติกรรมใดต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้นั้น มิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระหนี้ ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจจะต้องทำตามแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแม้สัญญาดังกล่าวยังมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบนั้น แต่หากผู้บริโภคได้วางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว ให้ผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องบังคับ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาให้เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือชำระหนี้เป็นการตอบแทนได้ ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้นำมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีผู้บริโภคและการพิสูจน์ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2562 นอกจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 จะถูกบัญญัติขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินคดีระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ยังมีหลักการสำคัญที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย คือ หลักการไม่เคร่งครัดที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขการตีความหรือการปรับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่เคร่งครัด ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็อยู่ในบริบทของหลักการดังกล่าวที่ให้อำนาจผู้บริโภคสามารถฟ้องบังคับผู้ประกอบธุรกิจให้ชำระหนี้ได้ แม้นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดถึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้จะไม่ได้ถูกทำขึ้น หรือ สัญญาที่ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้หากผู้บริโภคได้วางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วน ทั้งยังไม่ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีและพิสูจน์ ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะใช้ถ้อยคำว่าในการฟ้องคดีของผู้บริโภค แต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่เพียงต้องการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโจทก์เท่านั้น หากยังมุ่งคุ้มครองและเป็นการเอื้อสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคในการดำเนินกระบวนพิจารณากรณีที่เป็นจำเลยอีกด้วย การตีความการบังคับใช้บทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องหมายความรวมถึง การต่อสู้คดีของผู้บริโภคด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งในฐานะโจทก์และจำเลยสมกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นไปตามหลักการไม่เคร่งครัด จำเลยในฐานะผู้บริโภคจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงการใช้เงินได้ โดยไม่อยู่ในบังคับว่าการนำสืบการใช้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติไว้