
ตำรวจเรียกค่าตอบแทนการทำสำนวนได้หรือไม่?
จากที่มีหลายท่านได้สอบถามกันเข้ามาว่าเวลาเกิดคดีความอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือตกเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง มักจะเจอตำรวจอ้างว่าให้จ่ายคำทำสำนวน หรือค่าน้ำหมึก หรือให้ช่วยค่าน้ำมันรถเพื่อจะได้รีบไปจับกุมคนร้ายบ้าง จึงทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยว่าตำรวจทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ ผู้ที่ถูกเรียกจะต้องจ่ายหรือไม่
ประเด็นดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ เรื่องเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน
เจ้าพนักงาน หมายถึง บุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น ข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการการเมืองต่างๆ และรวมถึงบุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นประจำหรือครั้งคราวก็ตาม มีการกระทำการเรียก รับ หรือแม้แต่ตกลงว่ายอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเงินจากราษฎรที่มาใช้บริการ โดยเรียกเก็บเงินเกินไปจากอัตราค่าธรรมเนียมตามปกติ แม้จะอ้างว่าเรียกเก็บเพื่อจะดำเนินการให้เร็วขึ้นก็ตาม เงินส่วนเกินที่เรียกเก็บถือเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่เจ้าพนักงานได้เรียกรับโดยมิชอบแล้ว
การเรียกรับหรือยอมที่จะรับสินบน เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็นการเล่นการพนันชนไก่ซึ่งเป็นความผิดอาญา เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจากผู้กระทำผิด เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ หรืออีกกรณีหนึ่งคือเรียกรับเงินจากผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด โดยอ้างว่าเป็นค่าน้ำมันรถเพื่อจะไปจับกุมผู้กระทำผิด จะเห็นได้ว่าเป็นการเรียกสินบนเพื่อไปกระทำตามหน้าที่ แต่กฎหมายก็บัญญัติว่าเป็นความผิดแล้ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันเป็นเรื่องนอกหน้าที่ นอกตำแหน่ง ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดฐานเรียกรับสินบน
ดังนั้น กรณีตำรวจซึ่งมีหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญา ได้เรียกเงินเพื่อเป็นค่าทำสำนวน ก็อาจจะมีความผิดฐานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ได้ นอกจากนี้ เจ้าพนักงานซึ่งมีความผิดฐานเรียกรับสินบนแล้ว ก็จะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ตามมาตรา 157 อีกด้วย หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตรวจที่ทำคดีได้กระทำการถึงขั้นข่มขู่เพื่อให้ผู้เสียหายมอบเงินให้ มิฉะนั้นจะทำคดีให้เป็นว่าผู้เสียหายก็มีความผิดด้วย จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อข่มขืนใจหรือจูงใจ ให้ผู้อื่นมอบให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2538 การที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนและติดตามจับกุมคนร้าย เรียกรับเงินจากผู้เสียหายในคดีที่สามีผู้เสียหายถูกคนร้ายฆ่าและชิงทรัพย์โดยไม่มีสิทธิจะเรียกรับ ถือได้ว่าเป็นการรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่งหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
คำพิพากษาฎีกาที่ 3677/2525 จำเลยรับราชการเป็นตำรวจซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ย่อมเป็นเจ้าพนักงาน แม้จำเลยจะรับราชการประจำกองกำกับการตำรวจม้า มีหน้าที่ในการถวายอารักขาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรอบเขตพระราชฐาน ก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการ แต่โดยทั่วไปจำเลยยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 ดังนั้นการที่จำเลยจับกุมโจทก์ร่วมหาว่ามีพลอยหนีภาษีและยึดพลอยของกลางไว้จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมและยึดพลอยของกลางไว้แล้วกลับปล่อยโจทก์ร่วมไป ไม่นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด หากแต่ใช้อำนาจยึดเอาพลอยของกลางไปจากโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2551 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2506 (ประชุมใหญ่) จำเลยเป็นตำรวจประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ พากันไปแกล้งจับผู้เสียหายที่จังหวัดนครนายก หาว่าเล่นสลากกินรวบ ขอค้นบ้าน แล้วงัดลิ้นชักโต๊ะหยิบเอาเงินและปืนไปเพื่อประโยชน์แก่ตนดังนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แล้ว แม้จำเลยจะหยิบเอาเงินและปืนนั้นไปเองก็ดี แต่เมื่อเป็นเพราะเหตุที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ผู้เสียหายจึงไม่กล้าแย่งคืน หรือเพราะผู้เสียหายอาจจะเข้าใจว่าจำเลยเอาไปเป็นวัตถุพยาน ดังนั้น จึงถือได้ว่า ผู้เสียหายได้มอบให้แก่จำเลยตามความหมายของมาตรานี้แล้ว และเมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 148 แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงมาตรา 157 อันเป็นบทลงโทษทั่วไปซึ่งมีอัตราโทษน้อยกว่าอีก